วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2552

การเรียนรัฐประศาสนศาสตร์

การเรียนรัฐประศาสนศาสตร์เป็นการเรียนการบริหารรัฐกิจ การบริหารรัฐกิจก็ต้องเรียนกฎหมาย เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายของการบริหารรัฐกิจและการบริหารธุรกิจ


ในการที่จะเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ให้ได้ดีนั้น เราต้องมาทำความเข้าใจกับรัฐประศาสนศาสตร์ก่อน ว่ามีขอบข่ายในการศึกษาอย่างไร มีองค์ความรู้อะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เรียนแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติได้อย่างไรบ้าง เราเรียนไปเพื่ออะไร และสิ่งสำคัญที่เราควรรู้คือ รัฐประศาสนศาสตร์ คืออะไร



รัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration) หมายความถึงการ ศึกษาหาความรู้ในทุกเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ในการบริหารงานภาครัฐ และ รัฐประศาสนศาสตร์ยังมีความเป็น “ สหสาขาวิชา (Interdisciplinary) ” กล่าวคือ รัฐประศาสนศาสตร์ต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขาวิชา เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา กฎหมาย และในบางกรณีอาจรวม ถึงความรู้ด้านที่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นรัฐประศาสนศาสตร์ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ กิจการสาธารณะ (Public Affairs) ” ที่มุ่งศึกษาว่าจะมีวิธีดำเนินกิจกรรมที่ทำร่วมกันในสังคมอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนต้องการ


สถานภาพของรัฐประศาสนศาสตร์สรุปได้ดังนี้
1) รัฐประศาสนศาสตร์ คือ จุดสนใจที่ใช้สำหรับการศึกษา ไม่มีฐานะเป็น ศาสตร์เพื่อเป็นส่วนย่อยของวิชาอื่นใด
2) รัฐประศาสนศาสตร์เป็นสหวิทยาการ ซึ่งหมายถึง การอาศัยความรู้จาก หลายสาขาวิชามาอธิบายจุดที่ศึกษา
3) รัฐประศาสนศาสตร์เป็นสังคมศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งหมายถึง การมุ่งเน้น ที่นำเอาสังคมศาสตร์อื่นมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาการบริหาร ทั้งนี้ใน ปัจจุบันรัฐประศาสนศาสตร์ได้นำเอาความรู้จากศาสตร์อื่นๆ นอกเหนือจากสังคมศาสตร์ มาประยุกต์ใช้อีกด้วย
4) รัฐประศาสนศาสตร์เป็นกึ่งวิชาชีพ ซึ่งหมาถึง วิชาชีพเป็นความหมาย ที่กว้าง


สรุปขอบข่ายของรัฐประศาสนศาสตร์ต่อลักษณะวิชา 5 วิชา คือ


1) รัฐประศาสนศาสตร์มีความสนใจต่อวิชาวิทยาการจัดการ เพื่อลดจุดอ่อนของนักรัฐประศาสนศาสตร์ให้น้อยลง เพื่อลดการพึ่งพาจากผู้เชี่ยวชาญและเพื่อนำความรู้ไปเป็นเครื่องมือในการเลือกวิธีแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
2) รัฐประศาสนศาสตร์มีความสนใจต่อพฤติกรรมองค์การในส่วนของการ พัฒนาองค์การ เพื่อนำเอาองค์ความรู้ทางพฤติกรรมศาสตร์ไปใช้ให้เกิดผล ในโลกของความเป็นจริง เพื่อแก้ปัญหาขององค์การแบบระบบราชการและ ปัญหาความขัดแย้งได้ดียิ่งขึ้น
3) รัฐประศาสนศาสตร์มีความสนใจต่อการบริหารเปรียบเทียบในแนวทางของการ บริหารการพัฒนาในขอบข่ายของการศึกษากระบวนการในการนำนโยบายไปปฏิบัติและการแสวงกลยุทธ์ เพื่อให้การนำนโยบายไปปฏิบัติจริงบังเกิดความสำเร็จก็เพื่อแก้ปัญหาความล้มเหลวของการพัฒนาในอดีต
4) รัฐประศาสนศาสตร์มีความสนใจต่อวิชาการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ โดย การนำนโยบายไปปฏิบัติก็มีเหตุผลคล้ายกับความสนใจในส่วนของการบริหารการ พัฒนา แต่มีเหตุผลเพิ่มคือ ทำให้มีความรู้ความเข้าใจชัดขึ้นด้านกระบวนการของ รัฐบาลและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สามารถเชื่อมโยง ทฤษฎีเข้าสู่การปฏิบัติ
5) รัฐประศาสนศาสตร์มีความสนใจต่อทางเลือกสาธารณะก็เพื่อช่วยให้นักบริหารสามารถปรับตัวและหาวิธีการในการให้บริการในรูปแบบใหม่ เพื่อที่จะสนองตอบ ต่อความต้องการของประชาชนให้ได้มากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน การเสนอความต้องการของตน ตลอดจนสามารถตรวจสอบการให้บริการของรัฐ ได้อย่างทั่วถึง



การเรียนรัฐประศาสนศาสตร์นั้น เป็นการหาความรู้จากหลายสาขาวิชามาประกอบกัน เพื่อให้ได้ความรู้จากรัฐประศาสนศาสตร์อย่างแท้จริง เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ในการบริหารงานภาครัฐให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างสูงสุด เช่น ผู้ที่จบการศึกษาออกมาแล้วทำงานเป็นผู้นำของประเทศ สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศได้ แสดงว่าผู้นั้นได้นำความรู้ความสามารถจากที่เรียนมาประยุกต์ใช้ได้จริง ถึงอย่างไรก็ต้องใช้ความรู้ด้านอื่นประกอบด้วย แต่การเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ก็ไม่เจาะจงว่าจะต้องมาบริหารงานภาครัฐๆ ได้อย่างเดียว ยังสามารถ นำมาบริหารงานภาคเอกชนได้ด้วยเช่นกัน


ในการที่เราศึกษาถึงขอบข่ายของรัฐประศาสนศาสตร์นั้นเป็นเพียงแนวทางในการเรียนรู้และให้เกิดความคิดซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียนและผู้อ่านเท่านั้น และเป็นเพียงภาคทฤษฎี แต่การที่จะให้เห็นถึงประโยชน์จากการเรียนรัฐประ ศาสนศาสตร์อย่างแท้จริงนั้น คือการที่เราสามารถนำทฤษฎี ที่ได้มาจากการเรียนรัฐประศาสนศาสตร์มาปฏิบัติได้จริง ถึง จะแสดงว่าผู้ที่เรียนนั้นประสบความสำเร็จในการเรียนรัฐประ ศาสนศาสตร์เพราะรัฐประศาสนศาสตร์ คือ การบริหารงาน ภาครัฐเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

การท่องเที่ยว เกาะเหลายา จ.ตราด

ออกจากบ้าน ตี 4.30 น. ถึงท่าแหลมงอบ 8.00 น ถึงเแล้วก็ไปที่เคาร์เตอร์ แจ้งลงทะเบียน ฝากรถคันละ 100 บาท รอลงเรือ ตอน 9 โมง แต่เรือออกจริงๆ ตอน 9.30 น เพราะรอคนที่ยังไม่มา นั่งเรือเกือบ 2 ช.ม เหมือนกัน น่าเบื่อ เล็กน้อย พอไปถึงรีสอร์ต ตอนรับด้วยน้ำมะพร้าว จากนั้นก็แยกย้ายกันเข้าห้อง เราได้ห้อง 17A เป็นห้องอยู่หน้าทะเล เป็น 4 ห้องติดกัน มีทีวี น้ำอุ่น ตู้เย็น มีระเบียง แต่ก็มืดๆ ทำให้ไม่ค่อยน่านั่งเล่นสักเท่าไหร่ ตอนกลางวันก็มีอาหารอร่อยใช้ได้เลย วันนั้นตามโปรแกรม ต้องไปดำน้ำ ที่เกาะเหวาย แต่รีสอร์ตงด เพราะมีผู้ใหญ่ตำแหน่งสูงบางคนเหนื่อย เราก็เลยออกไปดำน้ำ ปะการังหน้าหาด เป็นปะการังตายแล้ว แข็งๆ ไม่มีสี ปลาก็มีบ้าง แต่ไม่เยอะมากนัก ที่ที่มีหอยเม่นมากต้องระวัง ส่วนก้อย และเบ้นซ์ ก็เอาแต่หลับอยู่ในห้อง เปิดแอร์นอนสบาย ตอนบ่ายแก่ๆ มีอาหารว่าง คือ ขนมลอดช่อง น้องก้อย เอามาให้กินในห้อง วันที่สอง คนอื่นๆ ไปเที่ยวเกาะกระในตอนบ่าย แต่พวกเราไม่ได้ไป เพราะช่วงเช้าไปเกาะหวาย ไม่ค่อยประทับสัก เท่าไหร่ เพราะคล้ายๆกับปะการังที่เหลายานั้นแหละ คือ ตายแล้ว เพียงแต่ที่เกาะหวาย แนวปะการังกว้างกว่าเท่านั้น สรุปว่าเราอยากจะมาอีกครั้ง เพราะ วิวดีมากๆเลย แค่นอนที่เหลายา ไม่ต้องออกไปไหน ก็ดีมากๆแล้ว

ชีวิตในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในความคิดของข้าพเจ้านั้นผู้ที่เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษานั้นถือว่าเป็นผู้ที่โชคดีมากที่มีโอกาสได้เข้าศึกษาเพราะว่าในการที่จะก้าวเข้าสู่การศึกษาในระดับนี้นั้นไม่ใช่ว่าจะสามารถเข้ามาได้ง่ายๆและสามารถเข้ามาได้ทุกๆคนเพราะต่างคนก็ต้องมีข้อจำกัดต่างๆไม่ว่าเป็นเรื่องของความสามารถในการสอบแข่งขันกันเพื่อคัดเลือกในการเข้ามาศึกษาในระดับอุดมศึกษานี้ และในสำหรับบางคนนั้นก็อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของการเงินเพราะว่าบางคนนั้นอาจสอบมาได้แต่ไม่มีทุนการศึกษาที่จะสามารถทำให้เรียนต่อไปได้จึงทำให้ต้องขาดโอกาสในส่วนนี้ไปเหตุที่ทุกคนอยากเข้ามาศึกษาในระดับนี้กันมากก็เพื่อพัฒนาตนเองให้พร้อมเพื่อไปประกอบอาชีพไม่ว่าจะทำงานในสถานประกอบการต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนหรือจะเป็นผู้ประกอบการเอง ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุนี้เพิ่งพ้นจากการเป็นเด็กเข้าสู่วัยรุ่น มักยังไม่มีความมุ่งมั่น ไม่มีความมุ่งหมายชัดเจนว่าปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และมีความสามารถ การเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นการเรียนที่ต่างจากระดับพื้นฐานอย่างมาก ผู้เรียนมีอิสระมากขึ้นในการเลือกวิชาที่จะเรียน มีอิสระในการเข้าชั้นเรียน (ซึ่งในบางชั้นเรียนไม่ให้อิสระมากนัก โดยการกำหนดสัดส่วนของเวลาที่เข้าชั้นเรียน หากไม่ถึงสัดส่วนที่กำหนดไม่สามารถเข้าสอบได้) การเรียนต้องช่วยตัวเองมากขึ้น ต้องแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้หลากหลาย ต้องคิดวิเคราะห์มากขึ้น ทำรายงานมากขึ้น เป็นต้น หากผู้เรียนไม่เตรียมตัวให้พร้อม ไม่มีเป้าหมายว่าเข้ามาเรียนไปเพื่ออะไร และสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะไปทำอะไร ผู้เรียนจะไม่ตั้งใจเรียน จะเข้ามาในมหาวิทยาลัยแต่ละวันโดยใช้เวลาไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง บางรายกว่าจะคิดได้ก็สายเกินไป เช่นถูกให้ออกเนื่องจากผลการเรียนต่ำหรือทำผิดวินัย ซึ่งเป็นการทำลายอนาคตของตนเอง และนำความเสียใจมาสู่บิดามารดาและญาติพี่น้อง และทางข้าพเจ้าเองก็ได้ไปอ่านบทความบทหนึ่งมาซึ่งมีเนื้อหาดีมากและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของนักศึกษาอย่างเราได้ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างประสบความสำเร็จและมีความสุขและเพื่อให้นักศึกษาอย่างเราได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิตของตนเองและวางแผนในการเรียนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพื่อความสำเร็จตามที่ได้ตั้งความหวังไว้ หัวข้อนี้แบ่งเป็น 4 หัวข้อย่อย ดังนี้
1. เป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิต
2. ความสำเร็จในการเรียน
3. ความเชื่อมโยงระหว่างความสำเร็จในการเรียนและความสำเร็จของชีวิต
4. การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพื่อไปสู่ความสำเร็จ
1. เป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิต
1.1 การกำหนดเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิต
เราทุกคนควรกำหนดเป้าหมายของชีวิตหรือกำหนดความสำเร็จของชีวิตเพื่อให้เกิดความพอใจและความสุข เมื่อชีวิตเป็นไปตามเป้าหมายหรือเป็นไปตามที่กำหนดไว้ว่าคือความสำเร็จ และเป็นแนวทางให้เราได้ประพฤติปฏิบัติตนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายหรือความสำเร็จที่เราได้กำหนดไว้ หากเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิตว่าคืออะไร เราก็เหมือนคนที่หลงทาง ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางใด ประพฤติปฏิบัติตนไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย ทำให้หลายคนประพฤติปฏิบัติตนออกนอกลู่นอกทาง ทำผิดกฎหมาย เรียนไม่สำเร็จ ไม่ได้ประกอบอาชีพ ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งกับตนเองและครอบครัว และส่งผลถึงสังคมด้วย
แต่ละคนย่อมมีเป้าหมายของชีวิตแตกต่างกัน หรือกำหนดความสำเร็จของชีวิตแตกต่างกัน บางคนต้องการความร่ำรวย เป็นที่นับหน้าถือตาในวงสังคม แต่บางคนเพียงต้องการให้พอมีพอกิน มีความสุข สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ท่านพุทธทาสภิกขุได้บรรยายธรรมะในหัวข้อ “เป้าหมายของชีวิต” เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2523 โดยท่านได้กล่าวถึง “เป้าหมายของชีวิต” ดังนี้
“นิพพาน ก็แปลว่า หมดความร้อน ดับไฟแห่งความร้อนสิ้น มันก็คือเย็น คือไม่ร้อน ทำชีวิตนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ ให้มันเย็นได้ ก็คือเป้าหมายแห่งชีวิต มันอยู่ที่ตรงนี้ จุดหมายปลายทางแห่งชีวิต มันอยู่ที่ตรงนี้ คือมันอยู่ในชีวิตนั่นเอง”
นักศึกษาอาจคิดว่า เป้าหมายของชีวิตตามคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของพระสงฆ์ แต่ในคำสอนของท่านตอนหนึ่งมีความว่า “คนธรรมดาสามัญอาจพูดว่า มีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีคนรักใคร่แวดล้อมพอตัว นี่เป็นเป้าหมายแห่งชีวิตก็ได้เหมือนกัน มันถูกเพียงแค่นั้น มันไม่ได้ถามว่าเย็นหรือเปล่า มีทรัพย์สมบัติด้วย มีอำนาจวาสนา มีเกียรติยศชื่อเสียง มีพวกพ้องบริวารด้วย แล้วมันเย็นหรือเปล่า ถ้าเย็นก็ได้เหมือนกัน ถ้าไม่เย็นก็ไม่ใช่”
ความข้างต้นคงชัดเจนแล้วว่า ไม่ว่าคนเราจะตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้อย่างไร หากไม่มีความสุขใจ มีแต่ความร้อนรุ่ม คงไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต ดังนั้นไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้อย่างไร กำหนดความสำเร็จของชีวิตไว้อย่างไร อย่าลืมว่าต้องมีความสุขใจ และความสุขใจจะมีได้ต้องทำความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นำความภูมิใจและความสุขใจมาให้บิดามารดาและญาติพี่น้อง
1.2 ทฤษฎีลำดับความต้องการของมาสโล (Maslow’s Needs-Hierarchy Theory)
ทฤษฎีของมาสโลนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมของคนเพื่อประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจบุคลากรขององค์การ มาสโลได้อธิบายว่าคนเรามีความต้องการ 5 ระดับ เมื่อได้ตามความต้องการระดับที่หนึ่งแล้ว ก็พยายามให้ได้ตามความต้องการในระดับที่ 2 จากระดับที่ 2 ไประดับที่ 3 ตามลำดับจนถึงระดับที่ 5 และความต้องการแต่ละระดับจะกำกับให้คนมีพฤติกรรมหรือมีการกระทำเพื่อให้ได้ความต้องการนั้นๆ ความต้องการ 5 ระดับของมาสโล ได้แก่
1. ความต้องการด้านกายภาพ (Physiological Needs) หมายถึง ความต้องการในสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ได้แก่ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัย 4 ที่เราจำเป็นต้องมี ได้แก่ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค 2. ความต้องการด้านความปลอดภัย (Safety Needs) เป็นความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
3. ความต้องการด้านสังคม (Social Needs) คือ ความต้องการที่ได้การยอมรับจากผู้อื่น การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การมีเพื่อนฝูง
4. ความต้องการด้านฐานะหรือตำแหน่ง (Self-Esteem Needs) คือ มีความมั่นใจในตัวเอง มีความเป็นอิสระ ประสบความสำเร็จ มีความสามารถและมีความรู้ มีสถานะหรือตำแหน่ง
5. ความต้องการที่จะทำให้ตัวเองเป็นตามที่คาดหวังไว้ (Self-Actualization Needs) คือ ความต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ และมีความรู้สึกว่าได้ทุกอย่างตามที่คาดหวังไว้แล้ว
ทฤษฎีของมาสโลได้อธิบายความต้องการของมนุษย์ตามลำดับ เราอาจใช้ทฤษฎีของมาสโล มากำหนดเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิตของเราได้ ว่าเราต้องการระดับใด หากมนุษย์เราได้ในระดับที่ 1 ถึง 3 ครบถ้วนก็น่าจะเพียงพอ อยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข แต่บางคนอาจต้องการระดับ 4 และ 5 ด้วย การให้ได้มาตามความต้องการนั้นแต่ละคนต้องดำเนินการ ต้องปฏิบัติ ต้องทำงาน มิใช่สิ่งเหล่านั้นจะมาหาเราได้เอง ดังนั้นเราควรกำหนดเป้าหมายหรือความสำเร็จที่เราต้องการและพยายามทำให้ได้สิ่งนั้นด้วยความชอบธรรม ด้วยความอดทน ด้วยความพยายาม ความมุ่งมั่น ซึ่งจะทำให้ได้
สิ่งที่ต้องการอย่างยั่งยืน ที่สำคัญต้องมีความเย็นและความสุขใจด้วย

2. ความสำเร็จในการเรียน
นักศึกษาทุกคนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยคงตั้งความสำเร็จว่าต้องเรียนจบการศึกษาในเวลาตามที่กำหนดในหลักสูตร บางคนอาจตั้งความสำเร็จเพิ่มเติมว่าต้องได้คะแนนดี ต้องได้เกียรตินิยม การตั้งความสำเร็จเช่นนี้ถือว่าถูกต้องเหมาะสม อย่างไรก็ตามการตั้งความหวังให้สำเร็จตามกำหนดเวลา ได้คะแนนดี ได้เกียรตินิยม อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากการไปประกอบอาชีพไม่ว่าจะทำงานในสถานประกอบการหรือเป็นผู้ประกอบการเอง นักศึกษาต้องพบกับสถานการณ์และปัญหาที่ต่างจากเนื้อหาสาระในห้องเรียน ดังนั้นนักศึกษาต้องมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ รู้จักหาความรู้จากแหล่งความรู้หลากหลายและใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนั้นต้องมีบุคลิกภาพดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีทักษะในการสื่อสารดี สามารถทำงานเป็นทีมได้ดี เนื่องจากในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตนักศึกษาต้องพบปะและเกี่ยวข้องกับผู้คนหลากหลาย ทักษะอื่นๆ ที่นอกจากผลการเรียนจึงมีความจำเป็น
ความสามารถและทักษะต่างๆ ที่ระบุข้างต้น เป็นไปตามปรัชญาและวัตถุประสงค์ของการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีสาระสำคัญคือ มุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม สามารถคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม
ดังนั้นสามารถสรุปความสำเร็จในการเรียนได้ดังนี้
1. เรียนสำเร็จภายในกำหนดเวลาตามหลักสูตร
2. ได้คะแนนเฉลี่ยสะสมสูง
3. ไม่มีวิชาใดได้ต่ำกว่า C
4. มีทักษะทาง IT และภาษาอังกฤษ
5. มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ หาแหล่งความรู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
6. มีบุคลิกภาพที่ดี (มารยาท การแต่งกาย มนุษยสัมพันธ์ รู้จักกาละเทศะ การสื่อสาร)
7. เป็นคนดีมีคุณธรรม มีจริยธรรม

3. ความเชื่อมโยงระหว่างความสำเร็จในการเรียนและความสำเร็จของชีวิต

ไม่ว่านักศึกษาจะตั้งเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิตไว้อย่างไร แต่น้อยที่สุด คงต้องให้ได้รับตามความต้องการ 3 ระดับแรก ตามทฤษฎีของมาสโล นั่นคือได้รับสิ่งที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานหรือปัจจัย 4 ให้มีความปลอดภัย ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม การที่จะให้ได้สิ่งที่กล่าวมานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาต้องประสบความสำเร็จในการเรียนตามที่ระบุในข้อ 2. หากนักศึกษาได้ครบถ้วนใน 7 ข้อที่ระบุในข้อ 2. เชื่อได้ว่านักศึกษาต้องได้งานที่ดีหรือสามารถประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถสร้างตัวเองได้ เป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ เป็นคนดี ก็จะทำให้ได้ครบตามความต้องการ 3 ระดับแรก นอกจากนี้ยังสามารถทำให้ได้ตามความต้องการในระดับที่ 4 และ 5 อีกด้วย เนื่องจากนักศึกษามีพื้นฐานดี จึงเห็นชัดเจนว่าความสำเร็จในการเรียนและความสำเร็จในชีวิตมีความเชื่อมโยงกันโดยตรง ซึ่งต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จในการเรียนมิใช่แค่ได้คะแนนดีเท่านั้น ต้องมีความสามารถและทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม และต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม จริยธรรมด้วย

4. การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพื่อไปสู่ความสำเร็จ
นักศึกษาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี หรือ 4 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร นักศึกษาควรใช้เวลาในมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่า ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองมากที่สุดในการพัฒนาตนเองในทุกด้าน เพื่อจะได้ไปประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จในอาชีพและในชีวิตต่อไป การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยสามารถแบ่งเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้
1) ด้านการเรียน
2) ด้านกิจกรรม
3) ด้านสันทนาการ

ด้านการเรียน นักศึกษาต้องตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้ผลการเรียนที่ดี และได้พัฒนาทักษะต่างๆ
ตามที่ระบุในข้อ 2 หากนักศึกษาปฏิบัติตนตามข้อต่างๆ ต่อไปนี้ได้ครบถ้วน จะเป็นหลักประกันว่านักศึกษาจะประสบความสำเร็จในการเรียน ข้อปฏิบัติตนได้แก่
1. ศึกษาคำอธิบายรายวิชา
2. ศึกษาประมวลการสอนและแผนการสอน
3. เตรียมตัวก่อนเข้าชั้นเรียน โดยอ่านเอกสารประกอบการสอน และตำราที่ระบุในประมวลการสอน เป็นการล่วงหน้าก่อนเข้าชั้นเรียน
4. เข้าชั้นเรียนทุกคาบ ไม่ขาดเรียน
5. ตั้งใจฟังอาจารย์ บันทึกคำสอนของอาจารย์
6. คิดตาม พยายามทำความเข้าใจ และหัดตั้งคำถาม
7. อ่านเอกสารประกอบการสอน ตำรา หนังสือ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากที่เรียนในชั้นเรียน
8. หากไม่เข้าใจบทเรียน ให้สอบถามอาจารย์ผู้สอน
9. ทำงานที่ได้รับมอบหมายทุกชิ้น และส่งอาจารย์ภายในเวลาที่กำหนด
10. ทบทวนบทเรียนตลอดภาคการศึกษา และทำโน้ตย่อบทเรียน
11. เตรียมตัวสำหรับการสอบตั้งแต่เนิ่นๆ ทบทวนทุกหัวข้อ ไม่เก็งข้อสอบ
12. พยายามเรียนวิธีการเรียนรู้
- อ่าน
- คิด วิเคราะห์
- หาแหล่งเรียนรู้หลากหลาย
- ประยุกต์ได้

ด้านกิจกรรม ผู้ที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานและในชีวิตมักเป็นผู้ที่ใช้เวลาใน
มหาวิทยาลัยทำกิจกรรมต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยและคณะจัดให้ ตลอดจนกิจกรรมที่ดำเนินการโดยนักศึกษาเอง เช่น กิจกรรมของชมรมต่างๆ การร่วมกิจกรรมจะพัฒนาให้นักศึกษารู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น มีทักษะในการสื่อสาร มีมนุษยสัมพันธ์ดี ได้พัฒนาทักษะในการวางแผนการทำงาน และเรียนรู้การแก้ปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ยังทำให้นักศึกษาได้ฝึกการแบ่งเวลาระหว่างการเรียนและการทำกิจกรรม ซึ่งถือว่าสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต เนื่องจากเวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัด และเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้อีก นักศึกษาต้องรู้จักแบ่งเวลาและใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุด กิจกรรมในมหาวิทยาลัยมีมากมาย ทั้งกิจกรรมในหลักสูตร กิจกรรมเสริมหลักสูตร กิจกรรมนอกหลักสูตร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น นักศึกษาควรเลือกกิจกรรมที่ชอบ ไม่ใช้เวลามากเกินไป และเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์โดยเสริมทักษะในด้านต่างๆ ให้นักศึกษา ในการสมัครเข้าทำงานมักจะมีคำถามเกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาในช่วงที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย

ด้านสันทนาการ กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยหรือคณะจัดมีบ้างที่เป็นกิจกรรมสันทนาการ แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็แฝงด้วยแง่มุมในการพัฒนานักศึกษาด้วย ในส่วนนี้จะกล่าวเฉพาะการใช้เวลาในการสันทนาการของนักศึกษาเอง เช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ การฟังเพลง การเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้า การชมภาพยนตร์ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่นักศึกษาต้องทำบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลาย เพื่อพักสมอง และเพื่อเติมพลังให้กับตัวเองในการเรียนในวันต่อๆ ไป แต่นักศึกษาต้องแบ่งเวลาให้ดี เช่น ทำการบ้าน ทำรายงาน และทบทวนบทเรียน แล้วจึงจะใช้เวลาไปในกิจกรรมสันทนาการที่ตนเองชอบ ทุกอย่างต้องทำโดยทางสายกลาง ต้องเกิดความสมดุล นักศึกษาจะใช้เวลาทั้งหมดในการเรียนคงไม่เหมาะสม จะเกิดความเครียดซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งจิตใจและร่างกาย นอกจากนี้ต้องแบ่งเวลาในการออกกำลังกายด้วย ซึ่งถือเป็นการสันทนาการอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความผ่อนคลายและทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ด้วย นักศึกษาอาจนำการปฏิบัติตนของรุ่นพี่บางคนมาเป็นตัวอย่างว่าเขาทำได้อย่างไร ที่จะให้เกิด ความสมดุลทั้งด้านการเรียน การทำกิจกรรม และการใช้เวลาในการสันทนาการ

บทสรุป
การที่เราจะสามารถทำได้ประสบผลสำเร็จอย่างบทความข้างต้นนั้นเราก็ควรกำหนดเป้าหมายในชีวิต หรือกำหนดว่าความสำเร็จในชีวิตของเราคืออะไร ต้องการเป็นอะไร ต้องการให้ได้อะไร จากนั้นนำมาเชื่อมโยงกับความสำเร็จในการเรียน และการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้
การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียน การพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และรู้จักแบ่งเวลาที่เหมาะสมเพื่อการสันทนาการทั้งในเรื่องความบันเทิงและการออกกำลังกายด้วย