วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2552

ชีวิตในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในความคิดของข้าพเจ้านั้นผู้ที่เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษานั้นถือว่าเป็นผู้ที่โชคดีมากที่มีโอกาสได้เข้าศึกษาเพราะว่าในการที่จะก้าวเข้าสู่การศึกษาในระดับนี้นั้นไม่ใช่ว่าจะสามารถเข้ามาได้ง่ายๆและสามารถเข้ามาได้ทุกๆคนเพราะต่างคนก็ต้องมีข้อจำกัดต่างๆไม่ว่าเป็นเรื่องของความสามารถในการสอบแข่งขันกันเพื่อคัดเลือกในการเข้ามาศึกษาในระดับอุดมศึกษานี้ และในสำหรับบางคนนั้นก็อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของการเงินเพราะว่าบางคนนั้นอาจสอบมาได้แต่ไม่มีทุนการศึกษาที่จะสามารถทำให้เรียนต่อไปได้จึงทำให้ต้องขาดโอกาสในส่วนนี้ไปเหตุที่ทุกคนอยากเข้ามาศึกษาในระดับนี้กันมากก็เพื่อพัฒนาตนเองให้พร้อมเพื่อไปประกอบอาชีพไม่ว่าจะทำงานในสถานประกอบการต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนหรือจะเป็นผู้ประกอบการเอง ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุนี้เพิ่งพ้นจากการเป็นเด็กเข้าสู่วัยรุ่น มักยังไม่มีความมุ่งมั่น ไม่มีความมุ่งหมายชัดเจนว่าปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และมีความสามารถ การเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นการเรียนที่ต่างจากระดับพื้นฐานอย่างมาก ผู้เรียนมีอิสระมากขึ้นในการเลือกวิชาที่จะเรียน มีอิสระในการเข้าชั้นเรียน (ซึ่งในบางชั้นเรียนไม่ให้อิสระมากนัก โดยการกำหนดสัดส่วนของเวลาที่เข้าชั้นเรียน หากไม่ถึงสัดส่วนที่กำหนดไม่สามารถเข้าสอบได้) การเรียนต้องช่วยตัวเองมากขึ้น ต้องแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้หลากหลาย ต้องคิดวิเคราะห์มากขึ้น ทำรายงานมากขึ้น เป็นต้น หากผู้เรียนไม่เตรียมตัวให้พร้อม ไม่มีเป้าหมายว่าเข้ามาเรียนไปเพื่ออะไร และสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะไปทำอะไร ผู้เรียนจะไม่ตั้งใจเรียน จะเข้ามาในมหาวิทยาลัยแต่ละวันโดยใช้เวลาไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง บางรายกว่าจะคิดได้ก็สายเกินไป เช่นถูกให้ออกเนื่องจากผลการเรียนต่ำหรือทำผิดวินัย ซึ่งเป็นการทำลายอนาคตของตนเอง และนำความเสียใจมาสู่บิดามารดาและญาติพี่น้อง และทางข้าพเจ้าเองก็ได้ไปอ่านบทความบทหนึ่งมาซึ่งมีเนื้อหาดีมากและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของนักศึกษาอย่างเราได้ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างประสบความสำเร็จและมีความสุขและเพื่อให้นักศึกษาอย่างเราได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิตของตนเองและวางแผนในการเรียนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพื่อความสำเร็จตามที่ได้ตั้งความหวังไว้ หัวข้อนี้แบ่งเป็น 4 หัวข้อย่อย ดังนี้
1. เป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิต
2. ความสำเร็จในการเรียน
3. ความเชื่อมโยงระหว่างความสำเร็จในการเรียนและความสำเร็จของชีวิต
4. การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพื่อไปสู่ความสำเร็จ
1. เป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิต
1.1 การกำหนดเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิต
เราทุกคนควรกำหนดเป้าหมายของชีวิตหรือกำหนดความสำเร็จของชีวิตเพื่อให้เกิดความพอใจและความสุข เมื่อชีวิตเป็นไปตามเป้าหมายหรือเป็นไปตามที่กำหนดไว้ว่าคือความสำเร็จ และเป็นแนวทางให้เราได้ประพฤติปฏิบัติตนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายหรือความสำเร็จที่เราได้กำหนดไว้ หากเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิตว่าคืออะไร เราก็เหมือนคนที่หลงทาง ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางใด ประพฤติปฏิบัติตนไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย ทำให้หลายคนประพฤติปฏิบัติตนออกนอกลู่นอกทาง ทำผิดกฎหมาย เรียนไม่สำเร็จ ไม่ได้ประกอบอาชีพ ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งกับตนเองและครอบครัว และส่งผลถึงสังคมด้วย
แต่ละคนย่อมมีเป้าหมายของชีวิตแตกต่างกัน หรือกำหนดความสำเร็จของชีวิตแตกต่างกัน บางคนต้องการความร่ำรวย เป็นที่นับหน้าถือตาในวงสังคม แต่บางคนเพียงต้องการให้พอมีพอกิน มีความสุข สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ท่านพุทธทาสภิกขุได้บรรยายธรรมะในหัวข้อ “เป้าหมายของชีวิต” เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2523 โดยท่านได้กล่าวถึง “เป้าหมายของชีวิต” ดังนี้
“นิพพาน ก็แปลว่า หมดความร้อน ดับไฟแห่งความร้อนสิ้น มันก็คือเย็น คือไม่ร้อน ทำชีวิตนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ ให้มันเย็นได้ ก็คือเป้าหมายแห่งชีวิต มันอยู่ที่ตรงนี้ จุดหมายปลายทางแห่งชีวิต มันอยู่ที่ตรงนี้ คือมันอยู่ในชีวิตนั่นเอง”
นักศึกษาอาจคิดว่า เป้าหมายของชีวิตตามคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของพระสงฆ์ แต่ในคำสอนของท่านตอนหนึ่งมีความว่า “คนธรรมดาสามัญอาจพูดว่า มีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีคนรักใคร่แวดล้อมพอตัว นี่เป็นเป้าหมายแห่งชีวิตก็ได้เหมือนกัน มันถูกเพียงแค่นั้น มันไม่ได้ถามว่าเย็นหรือเปล่า มีทรัพย์สมบัติด้วย มีอำนาจวาสนา มีเกียรติยศชื่อเสียง มีพวกพ้องบริวารด้วย แล้วมันเย็นหรือเปล่า ถ้าเย็นก็ได้เหมือนกัน ถ้าไม่เย็นก็ไม่ใช่”
ความข้างต้นคงชัดเจนแล้วว่า ไม่ว่าคนเราจะตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้อย่างไร หากไม่มีความสุขใจ มีแต่ความร้อนรุ่ม คงไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต ดังนั้นไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้อย่างไร กำหนดความสำเร็จของชีวิตไว้อย่างไร อย่าลืมว่าต้องมีความสุขใจ และความสุขใจจะมีได้ต้องทำความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นำความภูมิใจและความสุขใจมาให้บิดามารดาและญาติพี่น้อง
1.2 ทฤษฎีลำดับความต้องการของมาสโล (Maslow’s Needs-Hierarchy Theory)
ทฤษฎีของมาสโลนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมของคนเพื่อประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจบุคลากรขององค์การ มาสโลได้อธิบายว่าคนเรามีความต้องการ 5 ระดับ เมื่อได้ตามความต้องการระดับที่หนึ่งแล้ว ก็พยายามให้ได้ตามความต้องการในระดับที่ 2 จากระดับที่ 2 ไประดับที่ 3 ตามลำดับจนถึงระดับที่ 5 และความต้องการแต่ละระดับจะกำกับให้คนมีพฤติกรรมหรือมีการกระทำเพื่อให้ได้ความต้องการนั้นๆ ความต้องการ 5 ระดับของมาสโล ได้แก่
1. ความต้องการด้านกายภาพ (Physiological Needs) หมายถึง ความต้องการในสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ได้แก่ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัย 4 ที่เราจำเป็นต้องมี ได้แก่ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค 2. ความต้องการด้านความปลอดภัย (Safety Needs) เป็นความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
3. ความต้องการด้านสังคม (Social Needs) คือ ความต้องการที่ได้การยอมรับจากผู้อื่น การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การมีเพื่อนฝูง
4. ความต้องการด้านฐานะหรือตำแหน่ง (Self-Esteem Needs) คือ มีความมั่นใจในตัวเอง มีความเป็นอิสระ ประสบความสำเร็จ มีความสามารถและมีความรู้ มีสถานะหรือตำแหน่ง
5. ความต้องการที่จะทำให้ตัวเองเป็นตามที่คาดหวังไว้ (Self-Actualization Needs) คือ ความต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ และมีความรู้สึกว่าได้ทุกอย่างตามที่คาดหวังไว้แล้ว
ทฤษฎีของมาสโลได้อธิบายความต้องการของมนุษย์ตามลำดับ เราอาจใช้ทฤษฎีของมาสโล มากำหนดเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิตของเราได้ ว่าเราต้องการระดับใด หากมนุษย์เราได้ในระดับที่ 1 ถึง 3 ครบถ้วนก็น่าจะเพียงพอ อยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข แต่บางคนอาจต้องการระดับ 4 และ 5 ด้วย การให้ได้มาตามความต้องการนั้นแต่ละคนต้องดำเนินการ ต้องปฏิบัติ ต้องทำงาน มิใช่สิ่งเหล่านั้นจะมาหาเราได้เอง ดังนั้นเราควรกำหนดเป้าหมายหรือความสำเร็จที่เราต้องการและพยายามทำให้ได้สิ่งนั้นด้วยความชอบธรรม ด้วยความอดทน ด้วยความพยายาม ความมุ่งมั่น ซึ่งจะทำให้ได้
สิ่งที่ต้องการอย่างยั่งยืน ที่สำคัญต้องมีความเย็นและความสุขใจด้วย

2. ความสำเร็จในการเรียน
นักศึกษาทุกคนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยคงตั้งความสำเร็จว่าต้องเรียนจบการศึกษาในเวลาตามที่กำหนดในหลักสูตร บางคนอาจตั้งความสำเร็จเพิ่มเติมว่าต้องได้คะแนนดี ต้องได้เกียรตินิยม การตั้งความสำเร็จเช่นนี้ถือว่าถูกต้องเหมาะสม อย่างไรก็ตามการตั้งความหวังให้สำเร็จตามกำหนดเวลา ได้คะแนนดี ได้เกียรตินิยม อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากการไปประกอบอาชีพไม่ว่าจะทำงานในสถานประกอบการหรือเป็นผู้ประกอบการเอง นักศึกษาต้องพบกับสถานการณ์และปัญหาที่ต่างจากเนื้อหาสาระในห้องเรียน ดังนั้นนักศึกษาต้องมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ รู้จักหาความรู้จากแหล่งความรู้หลากหลายและใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนั้นต้องมีบุคลิกภาพดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีทักษะในการสื่อสารดี สามารถทำงานเป็นทีมได้ดี เนื่องจากในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตนักศึกษาต้องพบปะและเกี่ยวข้องกับผู้คนหลากหลาย ทักษะอื่นๆ ที่นอกจากผลการเรียนจึงมีความจำเป็น
ความสามารถและทักษะต่างๆ ที่ระบุข้างต้น เป็นไปตามปรัชญาและวัตถุประสงค์ของการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีสาระสำคัญคือ มุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม สามารถคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม
ดังนั้นสามารถสรุปความสำเร็จในการเรียนได้ดังนี้
1. เรียนสำเร็จภายในกำหนดเวลาตามหลักสูตร
2. ได้คะแนนเฉลี่ยสะสมสูง
3. ไม่มีวิชาใดได้ต่ำกว่า C
4. มีทักษะทาง IT และภาษาอังกฤษ
5. มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ หาแหล่งความรู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
6. มีบุคลิกภาพที่ดี (มารยาท การแต่งกาย มนุษยสัมพันธ์ รู้จักกาละเทศะ การสื่อสาร)
7. เป็นคนดีมีคุณธรรม มีจริยธรรม

3. ความเชื่อมโยงระหว่างความสำเร็จในการเรียนและความสำเร็จของชีวิต

ไม่ว่านักศึกษาจะตั้งเป้าหมายหรือความสำเร็จของชีวิตไว้อย่างไร แต่น้อยที่สุด คงต้องให้ได้รับตามความต้องการ 3 ระดับแรก ตามทฤษฎีของมาสโล นั่นคือได้รับสิ่งที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานหรือปัจจัย 4 ให้มีความปลอดภัย ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม การที่จะให้ได้สิ่งที่กล่าวมานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาต้องประสบความสำเร็จในการเรียนตามที่ระบุในข้อ 2. หากนักศึกษาได้ครบถ้วนใน 7 ข้อที่ระบุในข้อ 2. เชื่อได้ว่านักศึกษาต้องได้งานที่ดีหรือสามารถประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถสร้างตัวเองได้ เป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ เป็นคนดี ก็จะทำให้ได้ครบตามความต้องการ 3 ระดับแรก นอกจากนี้ยังสามารถทำให้ได้ตามความต้องการในระดับที่ 4 และ 5 อีกด้วย เนื่องจากนักศึกษามีพื้นฐานดี จึงเห็นชัดเจนว่าความสำเร็จในการเรียนและความสำเร็จในชีวิตมีความเชื่อมโยงกันโดยตรง ซึ่งต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จในการเรียนมิใช่แค่ได้คะแนนดีเท่านั้น ต้องมีความสามารถและทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม และต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม จริยธรรมด้วย

4. การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพื่อไปสู่ความสำเร็จ
นักศึกษาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี หรือ 4 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร นักศึกษาควรใช้เวลาในมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่า ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองมากที่สุดในการพัฒนาตนเองในทุกด้าน เพื่อจะได้ไปประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จในอาชีพและในชีวิตต่อไป การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยสามารถแบ่งเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้
1) ด้านการเรียน
2) ด้านกิจกรรม
3) ด้านสันทนาการ

ด้านการเรียน นักศึกษาต้องตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้ผลการเรียนที่ดี และได้พัฒนาทักษะต่างๆ
ตามที่ระบุในข้อ 2 หากนักศึกษาปฏิบัติตนตามข้อต่างๆ ต่อไปนี้ได้ครบถ้วน จะเป็นหลักประกันว่านักศึกษาจะประสบความสำเร็จในการเรียน ข้อปฏิบัติตนได้แก่
1. ศึกษาคำอธิบายรายวิชา
2. ศึกษาประมวลการสอนและแผนการสอน
3. เตรียมตัวก่อนเข้าชั้นเรียน โดยอ่านเอกสารประกอบการสอน และตำราที่ระบุในประมวลการสอน เป็นการล่วงหน้าก่อนเข้าชั้นเรียน
4. เข้าชั้นเรียนทุกคาบ ไม่ขาดเรียน
5. ตั้งใจฟังอาจารย์ บันทึกคำสอนของอาจารย์
6. คิดตาม พยายามทำความเข้าใจ และหัดตั้งคำถาม
7. อ่านเอกสารประกอบการสอน ตำรา หนังสือ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากที่เรียนในชั้นเรียน
8. หากไม่เข้าใจบทเรียน ให้สอบถามอาจารย์ผู้สอน
9. ทำงานที่ได้รับมอบหมายทุกชิ้น และส่งอาจารย์ภายในเวลาที่กำหนด
10. ทบทวนบทเรียนตลอดภาคการศึกษา และทำโน้ตย่อบทเรียน
11. เตรียมตัวสำหรับการสอบตั้งแต่เนิ่นๆ ทบทวนทุกหัวข้อ ไม่เก็งข้อสอบ
12. พยายามเรียนวิธีการเรียนรู้
- อ่าน
- คิด วิเคราะห์
- หาแหล่งเรียนรู้หลากหลาย
- ประยุกต์ได้

ด้านกิจกรรม ผู้ที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานและในชีวิตมักเป็นผู้ที่ใช้เวลาใน
มหาวิทยาลัยทำกิจกรรมต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยและคณะจัดให้ ตลอดจนกิจกรรมที่ดำเนินการโดยนักศึกษาเอง เช่น กิจกรรมของชมรมต่างๆ การร่วมกิจกรรมจะพัฒนาให้นักศึกษารู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น มีทักษะในการสื่อสาร มีมนุษยสัมพันธ์ดี ได้พัฒนาทักษะในการวางแผนการทำงาน และเรียนรู้การแก้ปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ยังทำให้นักศึกษาได้ฝึกการแบ่งเวลาระหว่างการเรียนและการทำกิจกรรม ซึ่งถือว่าสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต เนื่องจากเวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัด และเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้อีก นักศึกษาต้องรู้จักแบ่งเวลาและใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุด กิจกรรมในมหาวิทยาลัยมีมากมาย ทั้งกิจกรรมในหลักสูตร กิจกรรมเสริมหลักสูตร กิจกรรมนอกหลักสูตร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น นักศึกษาควรเลือกกิจกรรมที่ชอบ ไม่ใช้เวลามากเกินไป และเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์โดยเสริมทักษะในด้านต่างๆ ให้นักศึกษา ในการสมัครเข้าทำงานมักจะมีคำถามเกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาในช่วงที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย

ด้านสันทนาการ กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยหรือคณะจัดมีบ้างที่เป็นกิจกรรมสันทนาการ แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็แฝงด้วยแง่มุมในการพัฒนานักศึกษาด้วย ในส่วนนี้จะกล่าวเฉพาะการใช้เวลาในการสันทนาการของนักศึกษาเอง เช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ การฟังเพลง การเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้า การชมภาพยนตร์ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่นักศึกษาต้องทำบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลาย เพื่อพักสมอง และเพื่อเติมพลังให้กับตัวเองในการเรียนในวันต่อๆ ไป แต่นักศึกษาต้องแบ่งเวลาให้ดี เช่น ทำการบ้าน ทำรายงาน และทบทวนบทเรียน แล้วจึงจะใช้เวลาไปในกิจกรรมสันทนาการที่ตนเองชอบ ทุกอย่างต้องทำโดยทางสายกลาง ต้องเกิดความสมดุล นักศึกษาจะใช้เวลาทั้งหมดในการเรียนคงไม่เหมาะสม จะเกิดความเครียดซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งจิตใจและร่างกาย นอกจากนี้ต้องแบ่งเวลาในการออกกำลังกายด้วย ซึ่งถือเป็นการสันทนาการอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความผ่อนคลายและทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ด้วย นักศึกษาอาจนำการปฏิบัติตนของรุ่นพี่บางคนมาเป็นตัวอย่างว่าเขาทำได้อย่างไร ที่จะให้เกิด ความสมดุลทั้งด้านการเรียน การทำกิจกรรม และการใช้เวลาในการสันทนาการ

บทสรุป
การที่เราจะสามารถทำได้ประสบผลสำเร็จอย่างบทความข้างต้นนั้นเราก็ควรกำหนดเป้าหมายในชีวิต หรือกำหนดว่าความสำเร็จในชีวิตของเราคืออะไร ต้องการเป็นอะไร ต้องการให้ได้อะไร จากนั้นนำมาเชื่อมโยงกับความสำเร็จในการเรียน และการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้
การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียน การพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และรู้จักแบ่งเวลาที่เหมาะสมเพื่อการสันทนาการทั้งในเรื่องความบันเทิงและการออกกำลังกายด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น